“โจซิป บรอซ ตีโต้” (Josip Broz Tito) ประธานาธิบดีตลอดกาลแห่งยูโกสลาเวีย มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้เข้าร่วมสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง เฉกเช่นเดียวกับ วินสตัน เชอร์ชิล (อังกฤษ) , ชาร์ล เดอ โกล (ฝรั่งเศส) , แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (สหรัฐอเมริกา) , โจเซฟ สตาลิน (โซเวียตรัสเซีย) หรือแม้แต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (เยอรมัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 เค้าได้เป็นผู้นำกองกำลังคอมมิวนิสต์ใต้ดิน “ปาร์ติซาน” ต่อต้านการรุกรานของกองทัพนาซีอย่างสุดกำลังในรูปแบบกองโจร อีกทั้งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ตีโต้ได้เป็นผู้นำยูโกสลาเวีย ผ่านช่วงเวลาสงครามเย็นที่ถูกโซเวียตผู้นำคอมมิวนิสต์สากลพยายามจะทำให้ยูโกสลาเวียอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ยูโกสลาเวียก็ไม่เคยเดียวดายแถมยังมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกตลอดช่วงเวลาที่เขาเป็นประธานาธิบดี

โจซิป บรอซ ตีโต้ ได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ในโอกาสที่ปี ค.ศ.2020 เป็นการครบรอบ 40 ปี การจากไปของ “โจซิป บรอซ ตีโต้” Beaconboy Travel จึงทำการเรียบเรียงประวัติของท่านเพื่อเป็นการรำลึกการจากไปของ “ตีโต้” ประธานาธิบดีตลอดกาลแห่งยูโกสลาเวีย

ข้าพเจ้าคือผู้นำของหนึ่งประเทศซึ่งใช้ตัวอักษรสองชนิด , สามภาษา , สี่ศาสนา , ห้าชนชาติ , หกสาธารณรัฐ , ล้อมรอบด้วยเจ็ดเพื่อนบ้าน , ประเทศซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันแปดกลุ่มชนชาติ –โจซิป บรอซ ตีโต้
Photo : https://www.azquotes.com/
  • 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1892 ตีโต้เกิด ณ เมืองเล็ก ๆ ชื่อ คัมโรเวค ในครอบครัวของชาวนา สถานที่เกิดเป็นพื้นที่ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันเป็นดินแดนในเขตประเทศโครเอเชีย) ดังนั้นตีโต้จึงเป็นพลเมืองจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
  • ค.ศ. 1907 (ตีโต้อายุ 15 ปี) ออกเดินทางจากบ้านเกิดสู่เมืองซีซัค (Sisak) เริ่มงานเป็นเด็กรับใช้ในภัตตาคาร ก่อนที่จะเข้าฝึกอบรมเป็นช่างเหล็กและช่างเครื่องยนต์
  • ตุลาคม ค.ศ. 1910 (อายุ 18 ปี) เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแห่งพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งโครเอเชีย ช่วงเวลานี้ได้เดินทางทำงานหลากหลายสถานที่ ซาเกรบ (โครเอเชียปัจจุบัน) , คัมนิค (สโลวีเนียปัจจุบัน) , โบฮีเมีย (เช็กปัจจุบัน) , วีเนอร์ นอยสตัทซ์ (ออสเตรียปัจจุบัน) ***ดังนั้นการที่ติโตเกิดจากครอบครัวชาวนาและดำรงอาชีพชนชั้นกรรมกรแรงงาน เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตที่ตีโต้จะเข้าถึงหัวใจประชาชน เข้าใจการปกครองมวลชนและซึมซับความเป็นคอมมิวนิสต์***
  • ค.ศ. 1913 (อายุ 21 ปี) ต้องกลับบ้านเกิดเพราะถูกเกณฑ์ทหาร ได้เข้าสังกัดกองร้อยโดโมแบรนที่ 25 (จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี) ด้วยบุคลิกภาพเฉลียวฉลาด ร่างกายกำยำแข็งแรง จึงได้รับคัดเลือกส่งไปอบรมหลักสูตรนายทหารชั้นประทวนที่บูดาเปสก์ (ฮังการีปัจจุบัน) ติดยศนายสิบ
  • ค.ศ. 1914 (อายุ 22 ปี) ตีโต้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 สังกัดกองร้อยโดโมแบรนที่ 25 ประจำการ ณ กาลิเซีย (บริเวณโปแลนด์ตอนใต้และยูเครนปัจจุบัน) ตรึงพื้นที่ต่อต้านกองทัพรัสเซีย
  • มีนาคม ค.ศ. 1915 กองร้อยที่ตีโต้สังกัดถูกกองทัพรัสเซียโจมตีจนพ่ายแพ้ย่อยยับ ตีโต้บาดเจ็บหนักและถูกจับเป็นเชลยศึกของกองทัพรัสเซีย
  • ค.ศ. 1916 ถูกส่งไปใช้แรงงานในฐานะเชลยศึก ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก
  • ค.ศ. 1917 ตีโต้หนีออกจากค่ายเชลยศึก ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาปฎิวัติรัสเซีย ภายใต้การนำของ “วลาดีมีร์ เลนิน” ทำให้นักโทษและผู้ถูกคุมขังจากสงครามได้รับอิสระจากผลพวงของการปฎิวัติและปีนี้เองถือเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ก่อตั้งขึ้นและกระจายไปทั่วยุโรป ส่วนตัวของตีโต้เองได้เข้าร่วมหน่วยกองทหารรักษาการแดงสากล “อินเตอร์เนชันแนล เรด การ์ด”
  • ค.ศ. 1917 มีการแยกตัวของชนชาติ เซอร์บ โครแอต และ สโลวีน ก่อตั้งเป็น “ราชอาณาจักรเซอร์บ โครแอต และ สโลวีน” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย” โดยความหมายคำว่าว่ายูโกสลาเวีย คือ “ชาวสลาฟทางใต้” (ตีโต้เป็นพลเมืองของราชอาณาจักรนี้) แยกตัวประกาศความเป็นไท ออกมาจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
  • ค.ศ. 1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเป็นฝ่ายแพ้จึงล่มสลายไป พร้อมกับอีก 3 จักรวรรดิที่ล่มสลายไปด้วย คือ รัสเซีย , เยอรมัน , ออตโตมัน
ธงชาติยูโกสลาเวีย (ค.ศ 1946-1992)
Photo : wikipedia
  • ค.ศ. 1919 พรรคคอมมิวนิสต์ได้กำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยชอบด้วยกฎหมาย ณ ยูโกสลาเวีย ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนมากพอสมควร แต่ด้วยความไม่เป็นเอกภาพของสมาชิกในพรรค และความกังวลของรัฐบาลกลางยูโกสลาเวียที่มีต่อคอมมิวนิสต์ ทำให้ไม่ถึงปี พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียก็ถูกยุบและปราบปรามอย่างเฉียบขาดจากรัฐบาลกลาง เป็นเหตุให้ความเป็นคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย โทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต แต่ในยูโกสลาเวียก็ยังคงมีพรรคคอมมิวนิสต์ที่แอบกระทำการใต้ดินอย่างผิดกฎหมายต่อไป
  • ค.ศ. 1920 (อายุ 28 ปี) ตีโต้เดินทางกลับยูโกสลาเวียพร้อม “พอลก้า” ภรรยาคนแรกของเขา จากนั้นได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย แต่ก็ยังไม่ได้มีบทบาทอะไรกับพรรคคอมมิวนิสต์
  • ค.ศ. 1922 (อายุ 30 ปี) ตีโต้ได้พบกับสหายเก่าของเขา “สตีโว ซาบิค” (Stevo Sabik) ที่เคยร่วมรบและถูกจับเป็นเชลยศึกที่รัสเซียด้วยกัน ถือว่าบุคคลที่มีความสำคัญในการชักจูงตีโต้ให้เริ่มความเป็นนักปฎิวัติอย่างเต็มตัวผ่านช่องทางที่เขาเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน
  • ค.ศ. 1924 (อายุ 32 ปี) ช่วงเวลา 4 ปี ที่กลับมายูโกสลาเวีย ตีโต้มีบุตร 4 คน แต่อยู่รอดแค่คนเดียวและถือเป็นบุตรชายคนโตของตีโต้ “ซาร์โก” (Zarko Broz)
  • ค.ศ. 1927 (อายุ 35 ปี) ตีโต้ถูกจับกุมที่ข้อหาไม่ชัดเจนนัก แต่เนื่องด้วยความที่เขาเป็นคอมมิวนิสต์ จึงโดนเล่นงานไปโดยปริยาย ถูกย้ายที่คุมขังไปมาไม่มีการพิจารณาตัดสินโทษสักที จนตีโต้ต้องอดข้าวอดน้ำประท้วง สุดท้ายถูกพิจารณาคดีจำคุก 5 เดือน รอลงอาญา จุดนี้เป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บแค้นที่ถูกทางการกลั่นแกล้งและได้ปลุกอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะต้องทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงให้ได้
  • ค.ศ. 1928 (อายุ 36 ปี) ได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย สาขาซาเกรบ
  • ค.ศ. 1929 (อายุ 37 ปี) ตีโต้ถูกจับกุมอีกครั้งในข้อหาคอมมิวนิสต์ รวมกับคดีความเก่า ๆ ของเขาจึงทำให้ถูกจำคุกรวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 5 ปี ตีโต้ใช้เวลาในคุกศึกษาหลักการและปรัชญาต่าง ๆ ขัดเกลาหล่อหลอมตัวเขาเองเพื่อที่จะอุทิศชีวิตให้กับความเป็นคอมมิวนิสต์และเตรียมความพร้อมสำหรับการปฎิวัติต่อสู้ทางการเมือง
  • ค.ศ. 1934 (อายุ 42 ปี) ได้รับอิสระภาพจากการคุมขัง แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามและต้องรายการตัวเสมอ อีกทั้งถูกห้ามให้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ใด ๆ ทั้งสิ้นโดยเฉพาะซาเกรบ ดังนั้นตีโต้จึงเดินทางกลับ กุมโรเวค บ้านเกิดของเขา และจากนั้นได้หนีการติดตามและตัดสินใจที่จะเป็นบุคคลผิดกฎหมาย ปลอมแปลงตัวเป็นวิศวกรบ้าง นักธุรกิจบ้าง ใช้ชีวิตแบบคอมมิวนิสต์ใต้ดินเต็มตัว
  • กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 (อายุ 43 ปี) ตีโต้ได้รับการคัดเลือกให้ไปฝึกอบรมเพื่อเตรียมพร้อมกับตำแหน่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในอนาคตและประสานงานเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของคอมมิวนิสต์ในยูโกสลาเวีย ณ “โคมินเทอร์น” กรุงมอสโก โซเวียต ศูนย์กลางใหญ่ของคอมมิวนิสต์
  • ค.ศ. 1936 (อายุ 44 ปี) เดินทางสู่กรุงปารีส ฝรั่งเศส รับภารกิจสำคัญจัดหาสมาชิกคอมมิวนิสต์จากยูโกสลาเวียส่งไปเข้าร่วมกับกองทัพสาธารณรัฐสเปนช่วยรบกับฝ่ายของนายพลฟรังโก (Franco) ผู้นำเผด็จการกองทัพฝ่ายกบฎต่อรัฐสเปน ในสงครามกลางเมืองสเปน แม้ว่าผลของสงครามครั้งนี้กองทัพสาธารณรัฐสเปนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อนายพลฟรังโก แต่สำหรับคอมมิวนิสต์ยูโกสลาฟที่มีชีวิตรอดกลับมาจากสเปนนั้น จะเป็นกำลังสำคัญที่เข้าร่วมเป็นพลพรรคของตีโต้ ร่วมต่อสู้กับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • ต้นปี ค.ศ. 1939 (อายุ 47 ปี) ตีโต้ได้รับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียอย่างเป็นทางการ
“Titograd” (ค.ศ.1946-1992) หรือในยุคปัจจุบันคือ “Podgorica” เมืองหลวงของประเทศมอนเตเนโกร
Photo : wikipedia
  • 1 กันยายน ค.ศ. 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้น โดยสถานการณ์ของคอมมิวนิสต์โซเวียตได้ทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับนาซีเยอรมัน ส่วนยูโกสลาเวียก็ยังไม่ได้เข้าร่วมสงครามโดยตรง ขณะนั้นตีโต้ได้ทำงานอยู่ ณ สำนักงานโคมินเทอร์น มอสโคว
  • ตุลาคม ค.ศ.1940 (อายุ 48 ปี) ตีโต้เดินทางกลับยูโกสลาเวีย จัดประชุมลับคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย ณ ชานเมืองซาเกรบ ซึ่งความเป็นคอมมิวนิสต์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายยูโกสลาเวีย การประชุมครั้งนี้เพื่อวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับการถูกรุกรานจากกองทัพอักษะ โดยตัวของตีโต้เองยังมีแนวคิดอันแรงกล้าที่จะสถาปนาปฎิวัติยูโกสลาเวียให้เป็นรัฐคอมมิวนิสต์ให้จงได้ จึงได้คิดใช้สงครามที่กำลังจะเกิดกับยูโกสลาเวียเป็นบันไดสู่การปฎิวัติด้วย
  • กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 กองทัพอักษะเข้ายึดครองโรมาเนีย บัลแกเรียได้ทั้งหมด ยูโกสลาเวียจึงถูกล้อมไปด้วยนาซีเยอรมัน ฮิทเลอร์บีบให้ยูโกสลาเวียเข้าร่วมกับฝ่ายตน เจ้าชายพอล (Prince Paul of Yugoslavia) และรัฐบาลยูโกสลาเวียตกลงลงนามสัญญา แต่สุดท้ายเกิดการปฎิวัติในยูโกสลาเวียขึ้นโดยทหารและพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วย เป็นผลให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในนามกษัตริย์ปีเตอร์ (Peter II of Yugoslavia) ฮิตเลอร์จึงได้สั่งให้กองทัพนาซีบุกโจมตียูโกสลาเวียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1941 ทำให้สุดท้ายรัฐบาลยูโกสลาเวียที่เพิ่งจะปฎิวัติมาต้องยอมจำนนต่อกองทัพนาซีเยอรมัน แต่ถึงแม้ว่านาซีเยอรมันจะรุกรานยูโกสลาเวีย แต่คอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก เพราะยังต้องฟังคำสั่งจากโซเวียตคอมมิวนิสต์สากลส่วนกลาง ซึ่งขณะนั้นมีสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างโซเวียตและนาซีเยอรมัน
  • มิถุนายน ค.ศ. 1941 นาซีเยอรมันบุกโซเวียต ผิดสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน ทำให้ตีโต้ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับความเป็นพันธมิตรกันของนาซีเยอรมันและโซเวียตอีกต่อไป จึงก่อตั้งกองกำลังปลดแอกประชาชาติ ที่มีชื่อว่า “ปาร์ติซาน” (Partisan) ขึ้นมา เพื่อต่อต้านการรุกรานของนาซีเยอรมัน ถือว่าเป็นการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัวของตีโต้
  • กันยายน ค.ศ. 1941 ตีโต้เดินทางออกจากกรุงเบลเกรด นำปาร์ติซานต่อต้านการรุกรานของนาซีเยอรมัน โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้นจากทางโซเวียตและกองทัพสัมพันธมิตร อีกทั้งยังต้องต่อสู้กับกองกำลังอีกฝ่ายของเพื่อนร่วมชาติอย่าง “เซทนิก” ที่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเสมอมา นำโดย พันเอก “ดราซ่า มิไฮโลวิช” (Draža Mihailović) ซึ่งภายหลังได้ยศนายพลแห่งกองทัพยูโกสลาเวีย มิไฮโลวิชเล่นสงครามสองหน้า ต่อต้านกองกำลังนาซีเยอรมัน แต่ฉากหลังแอบผูกมิตรไว้เพื่อเล็งผลเลิศหลังสงครามจบหากฝ่ายนาซีเยอรมันได้รับชัยชนะจะได้กุมอำนาจในยูโกสลาเวีย
  • ตีโต้นำกองกำลังปาร์ติซานต่อต้านกองทัพนาซีเยอรมันด้วยการรบแบบจรยุทธ์ การที่เขาสามารถต่อต้านนาซีเยอรมันและกองกำลังเซทนิกได้โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากโซเวียตและสัมพันธมิตร ถือว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ตีโต้ ได้รับการสดุดี ยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญไม่แพ้ผู้ใดในสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
  • มีนาคม ค.ศ. 1943 (ตีโต้อายุ 51 ปี) หลังจากต่อต้านศัตรูนานถึง 18 เดือน ในที่สุดฝ่ายข่าวกรองของกองทัพสัมพันธมิตร (อ้งกฤษ) ก็ได้รับทราบความจริงว่า กองกำลังที่ต่อต้านนาซีเยอรมันในยูโกสลาเวียนั้น คือฝ่าย ปาร์ติซาน ที่นำโดยตีโต้เท่านั้น ส่วนเซทนิกของ มิไฮโลวิช ไม่ได้ต่อต้านแถมยังมีบางเหตุการณ์ที่สนับสนุนนาซีเยอรมันอีกต่างหาก ดังนั้น “วินสตัน เชอร์ชิล” นายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ จึงได้ส่งความช่วยเหลือให้ตีโต้อย่างมากมายทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์
  • พฤษจิกายน ค.ศ. 1943 มีการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นยูโกสลาเวียขึ้น มีผู้แทนเข้าร่วมจากทุกพื้นที่ ทุกศาสนาในยูโกสลาเวีย ตีโต้ได้รับตำแหน่งยศจอมพลและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หนึ่งในมติสำคัญในการประชุมคือไม่อนุญาตให้รัฐบาลพลัดถิ่นและกษัตริย์ปีเตอร์ที่ลี้ภัยอยู่อังกฤษกลับเข้ายูโกสลาเวีย
  • ธันวาคม ค.ศ. 1943 มีการประชุมใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรสามฝ่ายระหว่าง วินสตัน เชอร์ชิล (อังกฤษ) , รูสเวลส์ (อเมริกา) , สตาลิน (โซเวียต) ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ตีโต้ส่งสารแจ้งต่อรัฐบาลโซเวียตว่าจะไม่อนุญาตให้รัฐบาลพลัดถิ่นและกษัตริย์ปีเตอร์ที่ลี้ภัยอยู่อังกฤษกลับเข้ายูโกสลาเวีย ด้วยเหตุผลที่ไม่ช่วยต่อต้านอักษะนาซี อีกทั้งยังอาจมีผลกระทบต่ออำนาจของตีโต้ในการปฎิวัติยูโกสลาเวียให้เป็นรัฐคอมมิวนิสต์ภายหลังสงครามจบอีกด้วย จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทางสตาลินเริ่มมีความไม่พอใจต่อตีโต้ เพราะทางอังกฤษและอเมริกาสนับสนุนทางรัฐบาลพลัดถิ่นยูโกสลาเวียอยู่ อาจจะกระทบต่อความต้องการของโซเวียตในการประชุมใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตร และก่อนหน้านี้ตีโต้ยังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นโดยพลการอีกด้วย แต่สุดท้ายทั้งอังกฤษและอเมริกาก็ยังคงให้การสนับสนุนต่อตีโต้
  • ตุลาคม ค.ศ. 1944 (ตีโต้อายุ 52 ปี) ในที่สุดตีโต้ก็สามารถ “ปลดแอก” เบลเกรดสำเร็จ หลังจากนำทัพ ปาร์ติซาน เดินทางออกจากเบลเกรดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 เพื่อต่อสู้กองทัพอักษะนาซีในฐานะผู้นำกองรบจรยุทธ์ แต่การกลับมาครั้งนี้ยิ่งใหญ่อย่างยิ่งในฐานะวีรบุรุษผู้พิชิตแห่งยูโกสลาเวีย
  • กันยายน ค.ศ. 1945 สงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้น
  • พฤศจิกายน ค.ศ. 1945 ยูโกสลาเวียจัดการเลือกตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์ของตีโต้ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น คะแนนสนับสนุนถึงร้อยละ 96 หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกระบอบกษัตริย์ และสถาปนาเป็น “สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย” โดยมีมติให้ ตีโต้ ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ
  • ความขัดแย้งระหว่างโซเวียตรัสเซียที่มีฐานะเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์สากลโดยโจเซฟ สตาลิน กับทาง ยูโกสลาเวียที่เป็นรัฐคอมมิวนิสต์ที่นำโดยตีโต้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากสตาลินเห็นว่ายูโกสลาเวียไม่เชื่อฟังและเป็นคอมมิวนิสต์ที่ไม่แท้จริง
ถึง สตาลิน : เลิกส่งมือสังหารมาฆ่าข้าพเจ้าเสียที!! เราจับกลุ่มมือสังหารมาได้ห้า มีทั้งระเบิดและไรเฟิล ถ้ายังไม่เลิกส่งมา ข้าพเจ้าจะส่งไปมอสโกบ้างเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น รับรองได้ว่าไม่ต้องส่งใครไปเป็นครั้งที่สองแน่ : จาก โจซิป บรอซ ตีโต้
Photo : izquotes.com
  • มิถุนายน ค.ศ.1948 (ตีโต้อายุ 56 ปี) ยูโกสลาเวียถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรณ์คอมมิวนิสต์สากล (โคมินฟอร์ม) แต่ก็ไม่มีผลต่ออำนาจการปกครองประเทศของตีโต้ ประชาชนยังคงให้ความสนับสนุน อีกทั้งยูโกสลาเวียยังได้ชื่อว่าไม่อยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของโซเวียตรัสเซีย ถือว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ตีโต้ ได้รับการสดุดี ยอมรับนับถือว่ากล้าหาญที่จะปฎิเสธสตาลิน ประมุขของคอมมิวนิสต์ ผู้นำโซเวียตรัสเซียที่ปกครองประเทศครึ่งหนึ่งของโลก สามารถนำพายูโกสลาเวียให้มีบทบาทในเวทีโลก ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ในแบบฉบับของตีโต้
  • ค.ศ. 1953 (ตีโต้อายุ 61 ปี) โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียตรัสเซียถึงแก่อสัญกรรม
  • ค.ศ. 1956 โซเวียตรัสเซียในยุคของ “นีกีตา ครุชชอฟ” (Nikita Khrushchev) พยายามรื้อพื้นความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวีย ได้เชิญให้ตีโต้ไปเยือนโซเวียตรัสเซีย มีการจัดการต้อนรับตีโต้อย่างยิ่งใหญ่และตกลงเจรจาการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลดีต่อยูโกสลาเวียอย่างยิ่ง
  • ค.ศ. 1961 (อายุ 69 ปี) ตีโต้ผู้นำยูโกสลาเวียก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ร่วมกับ เนรูย์ (นายกรัฐมนตรีอินเดีย) , นัสเซอร์ (ประธานาธิบดีอียิปต์) ขึ้น เพื่อดำเนินนโยบายความเป็นพันธมิตรไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รักษาผลประโยชน์และถ่วงดุลอำนาจจากทางเสรีนิยมตะวันตกและสังคมนิยมตะวันออก ผ่อนคลายความตรึงเครียดของสงครามเย็น
  • 4 พฤษภาคม 1980 (อายุ 88 ปี) โจซิป บรอซ ตีโต้ ประธานาธิบดีตลอดกาลแห่ง สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ถึงอสัญกรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา ปิดฉากชีวิตรัฐบุรุษคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

ภาพถ่าย ณ “Beograd milestone” เมื่อครั้งไปเยือนเบลเกรด เมืองหลวงประเทศเซอร์เบีย อดีตเมืองหลวงยูโกสลาเวีย

เรียบเรียงจาก : ตีโต้ ผู้นำยูโกสลาเวีย โดย ทวีป วรดิลก

ขอบพระคุณสำหรับการเยี่ยมชม
Jobby.