เครื่องดื่มยอดนิยมในฤดูหนาว “Mulled Wine” vs “Eggnog”
เทศกาล “คริสมาสต์” เพิ่งผ่านมาเพียงไม่กี่วัน และตามมาด้วยเทศกาล “ปีใหม่ 2023” ที่กำลังจะมาถึง แต่ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหน ๆ ในช่วงฤดูหนาวแบบนี้ จะเห็นได้ว่าเมนู “ไวน์ร้อน” และ “เอ๊กน็อก” จะโผล่ออกมาให้เราเห็นอยู่ประจำ
กล่าวได้ว่า “มนุษย์” กับ “เครื่องดื่มมึนเมา” อยู่คู่กันมา ตั้งแต่ 5,000 ปี ก่อนคริสตกาล มีบันทึกไว้ใน “กระดาษปาปิรุส” ของชาวอียิปต์โบราณ แต่ความจริงเครื่องดื่มกินแล้วเมามีความเป็นมาเก่าแก่กว่านั้น โดยค้นพบหลักฐานภาชนะบรรจุเบียร์ในดินแดนแถบ “เมโสโปเตเมีย” และบริเวณ “ประเทศอิสราเอล” ในปัจจุบัน แต่คนจีนก็บอกว่าชาวฮั่นรู้จักหมักดองผลไม้ เช่น องุ่น ลูกเบอร์รี่ฮอว์ธอร์น น้ำผึ้ง และข้าว ทำเป็นเครื่องดื่มกินแล้วเมามาราว 7,000 ปี ก่อนคริสตกาล
เรามาเริ่มจาก “Mulled Wine” หรือ “Gluh wein” ไม่ได้เป็นเครื่องดื่มประยุกต์ดัดแปลงในยุกต์สมัยใหม่อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่เป็นเครื่องดื่มที่มีต้นกำเนิดยาวนานกว่า 2,000 ปีเลยก็ว่าได้
“ไวน์ร้อน” ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ “ยุคโรมัน” ครั้นเมื่อจักรวรรดิได้เติบโตขยายครอบคลุมเข้ามาในทวีปยุโรป เหล่ากองทหารโรมันได้คิดค้นวิธีการ “ต้มไวน์แดง” ใช้ดื่มเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวในหลากหลายพื้นที่ ต่อมาเริ่มมีการผสมผสานเครื่องเทศต่าง ๆ ลงไปด้วย เพราะเชื่อว่าจะสามารถรักษาโรค ทำให้ร่างกายแข็งแรง รวมถึงผสมผสาน “ดอกไม้” และ “สมุนไพร” เพิ่มกลิ่นหอมผสมกับหวานให้กับไวน์ จึงทำให้ “Mulled Wine” ดื่มง่าย แถมเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงยุคกลางของจักรวรรดิโรมัน แถมยังมีบันทึกว่าชาวโรมันในยุคกลางต้ม Mulled wine แจกให้ทหารดื่มสัปดาห์ละ 5 ลิตร ทว่าชาว “อียิปต์โบราณ” กล่าวอ้างไว้ว่า “ไวน์อุ่น” นิยมดื่มมาตั้งแต่สามพันกว่าปีก่อนคริสตกาล โดยใส่เครื่องเทศลงไปต้มถือเป็นยาบำรุงสุขภาพ
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 12 เมนู “ไวน์ร้อน” ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องซึ่งชาวฝรั่งเศสและชาวสเปน ก็จะเรียกเมนูนี้ว่า “Spicy Wine” (ซึ่งยังไม่ได้เรียกว่าไวน์ร้อนหรือ mulled wine นะ) จนกระทั่งราวศตวรรษที่ 13 พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ (Henry III of England) ได้เดินทางไปยัง “เมืองมงเปอลีเยร์” (Montpellier) เมืองทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส พระองค์ได้ชิมเมนูไวน์ใส่เครื่องเทศที่มีรสเผ็ดหวาน แถมยังมีความอุ่นอีกด้วย แตกต่างจากไวน์ธรรมดาทั่วไป พระองค์จึงถูกใจและได้นำสูตรการทำ กลับมาที่อังกฤษ ตรงจุดนี้เลยเชื่อกันว่า คำว่า “ไวน์ร้อน” หรือ “ไวน์อุ่น” (Mulled Wine) น่าจะถูกเรียกโดยชาวอังกฤษมาตั้งแต่ตอนนั้น
ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1420 ที่เครื่องดื่ม “ไวน์ร้อน” หรือ “ไวน์อุ่น” เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง สาเหตุที่เจ้า “ไวน์ร้อน” นิยมในชนชั้นสูงอย่างพวกขุนนาง ก็เพราะว่าคนสมัยนั้น เขาจะนิยมหมักไวน์ลงในลังไม้ที่เคลือบด้วยทองคำ โดยจะผสมกับเครื่องเทศพิเศษต่างๆ เช่น อบเชย, กานพลู, วานิลลา หรือแม้แต่กัญชา ก็นับว่าเป็นส่วนผสมพิเศษอีกด้วยนะ
แต่ทว่าในปัจจุบัน การดื่ม “ไวน์ร้อน” อาจไม่ได้แสดงถึงสถานะทางสังคมแบบในสมัยก่อนฃด้วยคอนเซปต์ของเครื่องดื่มที่ง่ายแสนง่าย คือ ไวน์แดงต้มกับเครื่องเทศท้องถิ่น พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำง่าย ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเยอะและมีราคาถูกเจ้าเมนูไวน์ร้อน ก็เลยจะออกมาอยู่ในรูปแบบของวิถีชีวิตหรือผลผลิตท้องถิ่นในแต่ละประเทศแทน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละพื้นที่นั้นก็จะมี “Mulled Wine” ในแบบฉบับของตัวเอง
แล้ว “ไวน์” แบบไหนเหมาะกับการนำมาทำเป็น “Mulled wine” กันนะ
- ทางเลือกที่ดีที่สุดคือเป็น “ไวน์แดง” ที่มีอายุน้อย รสชาติสดใส ฟรุ๊ตตี้ และ unoaked
- ควรเลือกไวน์ราคาถูกไปจนถึงระดับปานกลาง
- เหมาะกับไวน์แดงจากอิตาเลี่ยน หรือฝรั่งเศสตอนใต้ ไปจนถึง new world Merlot และ Shiraz
“Mulled Wine” เวอร์ชั่นโมเดิร์น
รูปแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น “Feuerzangenbowle” ที่หากแปลตรงตัวจะแปลว่า “พันช์คีมคีบไฟ” โดยลักษณะจะเป็น “ไวน์ร้อน” ที่เสิร์ฟพร้อมกับ “Sugarloaf” หรือ “ก้อนน้ำตาลทรงกระบอก” ที่ถูกนำมาแช่กับ “เหล้ารัม” จากนั้นก็จุดไฟให้น้ำตาลค่อย ๆ ไหม้และหยดลงใน “Mulled wine” ทำให้เป็นไวน์ร้อนที่มีรสชาติหวาน ใกล้เคียง dessert wine ที่นิยมเสิร์ฟกับของหวานช่วงเทศกาลคริสมาสต์หรือปีใหม่
เครื่องดื่มประจำฤดูหนาวอีกอย่างหนึ่ง คือ “Eggnog”
“Eggnog” พัฒนามาจาก “Posset” ของหวานที่ชาว “อังกฤษ” ชอบ
โดยเริ่มจากที่พระนักบวชในยุคกลางราวศตวรรษที่ 13 ทำจากนมที่ตกตะกอนจนเนื้อเนียนข้นเหมือนคัสตาร์ด เรียกว่า Posset แล้วเติมเอลพันช์ (Ele เบียร์ชนิดหนึ่งผสมน้ำผลไม้) ทำให้อุ่นแล้วใส่ไข่ (ดิบ) และมะเดื่อสด เติมผงเครื่องเทศ เช่น อบเชย ลูกจันทน์เทศ กานพลู เป็นของหวานยอดนิยม ต่อมาก็พัฒนาเป็นเครื่องดื่ม ทำจากนมผสมกับไวน์พันช์ หรือใส่ไวน์ ใส่เอล ส้มหรือมะนาว ดื่มในงานสังสรรค์
จาก Posset มาเป็น Eggnog แล้วกลายเป็นเครื่องดื่มประจำ เทศกาลคริสต์มาส และ เทศกาลปีใหม่ ได้อย่างไร ผู้รู้กล่าวไว้ว่า “ไข่” ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ เมื่อไข่ผสมกับนมต้มให้อุ่นใส่เครื่องเทศลงไปอีก ถือว่าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ซึ่งดีต่อใจและร่างกายเมื่อถึงฤดูหนาวช่วงคริสต์มาส อากาศหนาวเย็นออกไปไหนไม่ได้ก็ทำ Eggnog กินในบ้าน ถ้าเด็กอยากดื่มก็แค่ไม่เติมแอลกอฮอล์ จึงเป็นเครื่องดื่มประจำเทศกาลที่ดื่มได้ทุกบ้าน
ต่อมาเมื่อชาวอังกฤษไปอยู่อเมริกาก็เริ่มพลิกแพลงสูตร อย่างที่รู้ “วิสกี้” หรือ “บรั่นดี” นำเข้าจากอังกฤษมีราคาแพง บรรดาชนชั้นสูงและนักการเมืองเลยเลือก เหล้าแชร์รี่ (Sherry) ที่มีราคาถูกกว่า ชาวอาณานิคมในอเมริกาบอกว่า “Eggnog” เกิดจากไข่ (คำแรก) ส่วน nog หรือ noggin แปลว่าถ้วยใบเล็ก ๆ ที่ชาวยุโรปใช้กันสมัยศตวรรษที่ 16 อีกความหมายหนึ่ง nog เป็นภาษาอังกฤษโบราณ หมายถึง เบียร์เข้ม ๆ แรง ๆ บางคนบอกว่ามาจาก egg-and-grog รวมกันกลายเป็น “Eggnog”
พอมาถึงช่วงศตวรรษที่ 17 เหล้าแชร์รี่ขาดแคลน บรรดาคนชอบนมต้มเติมแอล เลยหา “เหล้ารัม” ที่มีราคาถูกกว่าจากประเทศในแถบแคริบเบี้ยน ช่วงนี้ต้องลืมวิสกี้ แชร์รี่ จนถึงไวน์ ด้วยราคาแพงกว่า ขนส่งมาไกลกว่า จึงกลายเป็นนมต้มใส่เหล้ารัม ที่ชนชั้นสูงชอบและชาวบ้านก็ดื่มได้ดื่มดี
แม้กระทั่ง อดีตประธานาธิบดี “จอร์จ วอชิงตัน” ที่ชอบเอ๊กน็อกมาก จัดให้เป็นเครื่องดื่มฉลองในวันเกิด 22 กุมภาพันธ์ และดื่มเลยไปถึงวันชาติอเมริกา 4 กรกฎาคมอีกด้วย
ใคร ๆ ก็ทำ “Eggnog” ได้
เพีงแค่มี นมสด ครีม เหล้ารัม วานิลลา ไข่แดงดิบ น้ำตาลไอซิ่ง ปริมาณกะเอาตามต้องการ วิธีทำคือ เทนมใส่กระทะลงอุ่นจนเดือด ใส่ไข่แดงแล้วคนต่อ เติมน้ำตาล ฝักวานิลลา ต้มต่ออีกเล็กน้อย แล้วเทใส่ตะแกรงร่อนแล้วค่อยเติมรัม เติมผิวส้ม เปปเปอร์มิ้นท์ ผงอบเชย กานพลู ผงจันทน์เทศ ได้ตามชอบ ส่วนแอลกอฮอล์สามารถเลือกเหล้าเชอร์รี่ วิสกี้ บรั่นดี ไวน์ เบอร์เบิ้น คอนญัค อาร์มาญัค ได้หมดแล้วแต่คุณเองได้เลย
เอาล่ะ เพื่อน ๆ สนใจเมนูไหน หรือ อยากจะลิ้มลองรสชาติของ “เครื่องดื่มประจำฤดูหนาว” ของประเทศเมืองหนาวกัน ก็สามารถทดลองตามกรรมวิธีที่ได้เขียนไว้ได้เลย ตอนนี้ต้องขอตัวก่อนนะจ๊ะ เพราะได้เวลาเวลเตรียมวัตถุดิบเพื่อเตรียมตัว “เฉลิมฉลอง” เทศกาลแห่งความสุขที่ใกล้มาถึงอย่าง “วันปีใหม่” กันแล้ว เย้!!