อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือ ผู้มีอิทธิพลบทบาทที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สนใจ-ติดตาม ผ่านช่องทางออนไลน์ในยุคปัจจุบัน แต่หากถามว่ายุคออฟไลน์ในอดีต มีใครไหมที่จะสามารถเรียกได้ว่า เป็นอินฟลูเอนเซอร์ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น จนถึงขนาดเรียกได้ว่าเปลี่ยนความเชื่อของโลกทั้งใบได้เลย คงจะต้องนึกถึง “มาร์โค โปโล” นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 13 ผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่า “กองกิสตาดอร์” (Conquistador) นักแสวงโชคผู้บุกเบิกโลกยุคใหม่ ออกเรือผจญภัยกันขวักไขว่ทั่วท้องทะเลในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่าสองร้อยปีก็ตาม


หากแต่ในศตวรรษที่ 13 ไม่มีสื่อโซเชียลออนไลน์ ไม่มีเทคโนโลยี 5G มีเพียงแค่เป้าหมายในการแสวงหา “3G” ที่หมายถึง “Gold , God , Glory” เท่านั้น (ทองคำ เครื่องเทศ สมบัติล้ำค่า , เผยแพร่ศาสนา , ความรุ่งเรืองแห่งมาตุภูมิ) ทำให้มาร์โค โปโล เผยแพร่ส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านช่องทางออฟไลน์ด้วยบันทึกการเดินทาง “Il Milione” หรือ “The Travels of Marco Polo” ที่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นหนังสือคลาสสิกที่ได้รับการเผยแพร่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 จนถึงโลกปัจจุบัน (แม้ว่าในความเป็นจริง เขาจะไม่ได้เป็นคนเขียนเอง แต่เป็นการบันทึกเรื่องราวที่มาร์โค โปโล บอกเล่าสู่เพื่อนร่วมคุกของเขา ขณะถูกจับเป็นเชลยศึกของสงครามชิงความเป็นใหญ่บนเส้นทางการค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างเวนิส – เจนัว)

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และเหล่าลูกเรือ ครั้งเมื่อออกเรือและขึ้นฝั่งทวีปอเมริกาสำเร็จครั้งแรกใน ค.ศ.1492
Photo : https://en.wikipedia.org/


หนังสือเล่มนี้สร้างแรงบันดาลใจได้ขนาดไหน ?? มากจนถึงขนาดที่ “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” (Christopher Columbus) นักเดินทางชาวเจนัวผู้รับใช้ราชสำนักสเปน กองกิสตาดอร์รุ่นใหญ่ผู้ที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์สากลว่า เป็นผู้ค้นพบแผ่นดินทวีปอเมริกา (แม้ว่าตัวเค้าเองนั้นไม่รู้ว่ามันคือแผ่นดินทวีปอเมริกา) ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ ทำให้เขาอุทิศชีวิตทุ่มเทให้กับเดินทางแสวงหาแผ่นดินที่ “มาร์โค โปโล” กล่าวถึงในหนังสือของเขา ถึงขนาดนำสำเนาหนังสือติดตัวออกทะเลไปกับเขาด้วย

หากไม่มีแรงบันดาลใจจากมาร์โค โปโล โลกใบนี้อาจจะยัง “แบน” อยู่ตามความเชื่อโบราณ และยังเดินทางมาไม่ถึงยุคปัจจุบันก็เป็นได้ ดังนั้นจึงไม่ผิดนัก ที่จะเปรียบเปรย มาร์โค โปโล คืออินฟลูเอนเซอร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคออฟไลน์

โดยทำความรู้จักกับมาร์โค โปโล คร่าว ๆ เขาคือชาวเวนิส (มีความเชื่อว่า เขาอาจจะเกิดที่ เกาะคอร์ชูล่า ประเทศโครเอเชียในปัจจุบัน แต่ประวัติศาสตร์สากลบันทึกว่าเขาเกิดที่เวนิส) เกิดในศตวรรษที่ 13 ในครอบครัวที่ประกอบอาชีพการค้า ในตอนเขาเกิด คุณพ่อและคุณลุงของเขา “นิกโคโล” และ “มัฟเฟโอ” ได้ออกเดินทางไปทำการค้า ณ แผ่นดินตะวันออก ต่อจากนั้นได้เดินทางต่อจนถึงประเทศจีน ซึ่งในขณะนั้นปกครองโดย “กุบไลข่าน” กษัตริย์ชาวมองโกลผู้ที่สามารถพิชิตจีนได้ทั้งหมด สองพี่น้องได้มีโอกาสเข้าพบกับกุบไลข่านและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี จนทำให้ได้ใช้ชีวิตอยู่ในจีนและทำการค้าขายไปด้วยเป็นเวลาประมาณ 2 ปี จากนั้นได้เดินทางกลับเวนิส โดยรับปากสัญญาว่าจะเดินทางกลับมาพบกับท่านกุบไลข่านอีกครั้ง

เมื่อ “นิกโคโล” และ “มัฟเฟโอ” ได้เดินทางกลับถึงเวนิส ก็ได้พบกับลูกชายของเขา ” มาร์โค โปโล” ซึ่งไม่เคยเจอกันตั้งแต่เกิด จนบัดนี้เขาได้อายุ 15 ปี จากนั้นทั้งสามคนก็ได้เดินทางทำการค้าสู่ดินแดนตะวันออกอีกครั้ง เส้นทางนี้มีสินค้ามากมาย แต่สินค้าที่มีค่าและราคาแพงที่สุดคือ ผ้าไหม เส้นทางการค้านี้จึงถูกขนานนามว่า “เส้นทางสายไหม” (The Silk Road)

ภาพโมเสค ของ มาร์โค โปโล
Photo : https://en.wikipedia.org/

เมื่อเดินทางถึงอาณาจักรของกุบไลข่าน (ที่มีความยิ่งใหญ่ขนาดที่มีพื้นที่ของรัสเซียและพม่าบางส่วนในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย) พ่อและลุงของเขาก็ได้แนะนำมาร์โค โปโล และมอบตัวของเขาให้เป็นข้ารับใช้แก่กุบไลข่าน จากนั้นไม่นานมาร์โค โปโล ก็ได้เรียนรู้ภาษาเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นอย่างดี จึงได้รับตำแหน่งหน้าที่คอยเดินทางสำรวจสังเกตุการณ์ในพื้นที่ห่างไกลของอาณาจักรของกุบไลข่าน แล้วนำมารายงานต่อกุบไลข่าน ในบางครั้ง พ่อและลุงของเขาก็ร่วมเดินทางไปด้วย จุดนี้เองทำให้มาร์โค โปโล ได้เปิดโลกทรรศน์ พบเห็นสิ่งต่างๆ จากการเดินทาง เกิดประสบการณ์ที่นำมาสู่การบันทึกเรื่องราวการเดินทางของเขานั่นเอง มีการบันทึกไว้ว่า เขาได้เดินทางไปไกลถึงเกาะสุมาตราเลยทีเดียว

นิคโคโล , มัฟเฟโอ และ มาร์โค โปโล เข้าพบกุบไลข่าน ใน ค.ศ.1275
Photo : https://en.wikipedia.org/

มาร์โค โปโล ออกเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้เมื่ออายุได้ 15 ปี หลังจากนั้นอีก 24 ปีให้หลัง เขาได้เดินทางกลับสู่เวนิสบ้านเกิดพร้อมพ่อและลุงของเขา จากนั้นได้ใช้ชีวิตเป็นพ่อค้าในเมืองเวนิส แต่งงานมีครอบครัว ได้เข้าร่วมสงครามกับเจนัวถูกจับเป็นเชลยศึกจนทำให้เกิดบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล สุดท้ายได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุ 70 ปี โดยก่อนที่เขาจะจากไป ได้ทิ้งแรงบันดานใจให้แก่คนรุ่นหลังว่า ในบันทึกการเดินทางของเขานั้น ได้กล่าวว่า “ฉันได้บอกเพียงแค่ครึ่งเดียวของสิ่งที่ฉันไปพบไปเจอมา”

แม้ว่าในยุคศตวรรษที่ 13 มาร์โค โปโล จะเคยเดินทางมาถึงเกาะสุมาตราและเวียดนาม แต่ไม่เคยมีบันทึกว่าเดินทางเข้ามาถึงยังประเทศไทย (ในยุคสมัยนั้น) แต่เหตุใด กลับมีรูปปั้นหินมาร์โค โปโล ตั้งอยู่ที่วัดโพธิ์ เมืองไทย ?? เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2330 – 2394) โดยมีความเชื่อสันนิษฐานอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ เป็นเพราะไทยนำสินค้าขนลงเรือไปค้าขายกับจีน ขากลับเรือเบา ทำให้ต้องหาน้ำหนักมาถ่วงเพื่อไม่ให้เรือโคลงสามารถล่องน้ำได้ จึงนำ “เครื่องอับเฉา” รูปปั้นหินจีน ขนลงเรือนำกลับมาด้วย เมื่อนำกลับมาก็นำเอารูปปั้นหินต่าง ๆ มาประดับประดาตามวัดที่เราเห็นในปัจจุบัน

ความเชื่ออย่างที่สอง คือ รูปปั้นหิน มาร์โค โปโล มีอยู่แล้วในประเทศไทย เป็นผลงานที่ตั้งใจทำโดยช่างแกะหินชาวจีนในเมืองไทย เป็นตุ๊กตาหินตกแต่งสวนจีนในวัง ก่อนที่จะถูกนำมาตกแต่งในวัดโพธิ์ที่เห็นในปัจจุบัน

เที่ยววัดโพธิ์ต้องไม่พลาดเยี่ยมชม กราบสักการะพระพุทธไสยาสน์ หรือ พระนอนวัดโพธิ์

ทั้งสองเรื่องนี้ผู้เขียนเคยได้ฟังได้อ่านมาทั้ง 2 อย่าง แต่ก็ไม่พบเห็นหลักฐานหรือพบว่าใครที่สามารถพิสูจน์ฟันธงได้ว่าความจริงเป็นเช่นไร ถึงอย่างไรก็ถือว่าเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เพิ่มความสนุกสนานให้กับการเที่ยวเยี่ยมชมวัดโพธิ์ได้เป็นอย่างดี ในอนาคตถ้าหากผู้เขียนพบหลักฐานว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไรจะมาอัพเดทให้ฟังอีกครั้ง

ขอบพระคุณสำหรับการเยี่ยมชม
Jobby