Map for วีซ่าเชงเก้น (Schengen visa)
Political Map of Europe (https://www.mapsofworld.com)

วีซ่าเชงเก้น (Schengen visa) ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวหลาย ๆ ท่านจะได้รับการพิจารณาวีซ่า ให้ได้ระยะเวลามากกว่าการท่องเที่ยวในทริปนั้น ๆ ทำให้สามารถใช้วีซ่าท่องเที่ยวได้หลายครั้งโดยที่ไม่ต้องขอวีซ่าใหม่ เป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งเพราะว่าจะได้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมวีซ่าและไม่เสียเวลาขอวีซ่าในการเดินทางครั้งถัดไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทราบและสามารถนับการหมดอายุของวีซ่านั้น ๆ หากพิจารณาแค่เรื่องของช่วงเวลาเริ่มอนุญาตให้ใช้วีซ่าว่าตั้งแต่เมื่อใดจนถึงเมื่อใดก็ง่ายมากเพราะชัดเจนด้วยกำหนดวันที่อยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญของบทความนี้คือการพิจารณา “Duration of stay” ที่หลาย ๆ ท่านได้รับวีซ่าที่ระบุระยะพำนักจำนวน 90 วัน และจำนวนครั้งการเข้าแบบหลายครั้ง

(Type of Visa = C , Number of Entries = MULT , Duration of Stay = 90 Days)

European Schengen Area วีซ่าเชงเก้น (Schengen visa)

แต่ก่อนอื่นต้องเกริ่นข้อมูลพื้นฐานเรื่องวีซ่าและคำจำกัดความที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะแนะนำ Application ที่ใช้สำหรับการนับวันวีซ่าเชงเก้นอย่างง่าย สำหรับคนไทยการท่องเที่ยวกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปจำเป็นต้องมีวีซ่า พระเอกของเราคือ วีซ่าเชงเก้น Schengen visa ที่ทำให้เราสะดวกสบายในการเดินทางท่องเที่ยว ขอวีซ่าครั้งเดียวเที่ยวได้แทบจะทุกประเทศ ดังนั้นเรามาดูตัวอย่างประเทศที่สามารถใช้และไม่สามารถใช้ วีซ่าเชงเก้น เดินทาง รวมถึงข้ออนุโลมบางประการกัน

1. ประเทศที่ใช้ วีซ่าเชงเก้น เข้าประเทศ ปัจจุบันมี 26ประเทศ ตัวอย่างประเทศยอดฮิตสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิเช่น อิตาลี สวิส ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฮังการี เช็ก เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม (อ้างอิงข้อมูล มกราคม 2019) https://www.schengenvisainfo.com/schengen-visa-countries-list/

2. ประเทศที่ใช้วีซ่าของประเทศตนเองเท่านั้น ไม่สามารถใช้ วีซ่าเชงเก้น เดินทาง เช่น กลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์)

3. ประเทศที่ต้องใช้วีซ่าของประเทศตนเอง แต่หากมีวีซ่าเชงเก้นที่ยังไม่หมดอายุสามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้ เช่น โครเอเชีย เซอร์เบีย บอสเนีย มอนเตเนโกร โรมาเนีย บัลแกเรีย

4. ประเทศที่ไม่ต้องใช้วีซ่าใดๆ คนไทยเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้เลย ในทวีปยุโรปมี 2 ประเทศคือ รัสเซีย และ ตุรกี

เมื่อเราจำแนกได้แล้วว่าประเทศใดใช้ วีซ่าเชงเก้น หรือไม่ จากนั้นเรามาดูรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจจะทำให้ผู้เดินทางสับสน คำจำกัดความหลาย ๆ คำมีเนื้อหาใกล้เคียงกันแต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน ดังนั้นลองดูตัวอย่างกับความหมายของคำจำกัดความแบบสั้นๆ อย่างง่ายที่จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของวีซ่าเชงเก้น

วีซ่าเชงเก้น (Schengen visa) Flag EU Countries
จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Schengen_Area
  • กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป / European countries = สมาชิกประเทศในทวีปยุโรป
    ข้อสังเกตุ : เราชอบลืมนับรัสเซียและตุรกีเป็นประเทศสมาชิกในทวีปยุโรป และความพิเศษของสองประเทศนี้ในทวีปยุโรปคือคนไทยไปเที่ยวไม่ต้องใช้วีซ่า)
  • สหภาพยุโรป : อียู / European Union :EU = สหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศสมาชิก พูดง่าย ๆ คือเน้นประเด็นการค้าและการเมือง (ตัวอย่างคือประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ฮังการี โครเอเชีย เดนมาร์ก อิตาลี กรีซ และอื่น ๆ (อ้างอิงข้อมูล มกราคม 2019)
    https://europa.eu/european-union/about-eu/countries_en#the-28-member-countries-of-the-eu
    ข้อสังเกตุ : ประเทศตัวอย่างที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์
  • ข้อตกลงเชงเก้น / Schengen Agreement = ข้อตกลงที่มีประเด็นสำคัญของเรื่องการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศสมาชิก เกี่ยวเนื่องถึงวีซ่าเชงเก้น ปัจจุบันมีสมาชิก 26 ประเทศตามที่กล่าวไปแล้ว
  • เงินยูโร / Euro : EUR = สกุลเงินหลักอันดับ 2 ของโลก ที่ใช้กันในประเทศส่วนมากที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ไม่ทุกประเทศ ข้อสังเกตุ : ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ไม่จำเป็นต้องใช้เงินยูโรเสมอไป เช่น สหราชอาณาจักร (ปอนด์) , เช็ก (โครูน่า) , เดนมาร์ก (โครนเดนมาร์ก)

แม้ว่าทุกเรื่องเป็นคนละเรื่อง แต่ผูกพันเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น ดังนั้นมีตัวอย่างของแต่ละประเทศที่น่าสนใจในรายละเอียดต่าง ๆ เช่น

– ประเทศเยอรมนี , ฝรั่งเศส , อิตาลี , สเปน สมาชิกอียู สมาชิกเชงเก้น ใช้เงินยูโร

– สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) สมาชิกอียู ไม่ใช่สมาชิกเชงเก้น ใช้วีซ่า UK ไม่ใช้เงินยูโร (ใช้ปอนด์ท้องถิ่น)

– ประเทศเช็ก ฮังการี เดนมาร์ก สมาชิกอียู สมาชิกเชงเก้น ไม่ใช้เงินยูโร

ประเทศโครเอเชีย สมาชิกอียู ไม่ใช่สมาชิกเชงเก้น (อนุโลมใช้วีซ่าเชงเก้น) ไม่ใช้เงินยูโร (ใช้ท้องถิ่นคูน่าโครเอเชีย)

– ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ , นอร์เวย์ ไม่ใช่สมาชิกอียู สมาชิกเชงเก้น ไม่ใช้เงินยูโร (สวิสฟรังก์ , โครนนอเวย์)

– ประเทศรัสเซีย ไม่ใช่สมาชิกอียู ไม่ใช่สมาชิกเชงเก้น (คนไทยไม่ต้องใช้วีซ่า) ไม่ใช้เงินยูโร (ใช้รูเบิลรัสเซีย)

– ประเทศมอนเตเนโกร ไม่ใช่สมาชิกอียู ไม่ใช่สมาชิกเชงเก้น (อนุโลมใช้วีซ่าเชงเก้น) ใช้เงินยูโร

วิธีนับวันของ วีซ่าเชงเก้น Schengen visa

เมื่อได้รายละเอียดข้อมูลปลีกย่อยพื้นฐานพอสมควร เราก็มาเข้าเรื่องการนับจำนวนวันของวีซ่าเชงเก้นกัน หากท่านได้รับวีซ่าที่มีระยะวันอนุญาตเท่ากับจำนวนวันของการเดินทางในครั้งนั้น ๆ วีซ่าก็จะหมดอายุไปเมื่อเดินทางเสร็จสิ้น แต่หากท่านได้รับวีซ่าที่มีระยะการใช้งานมากกว่าการเดินทาง (ส่วนมากจะเป็น 90 วัน ระยะเวลา 6 เดือน – 4 ปี) จะต้องมาดูความหมายของคำว่า 90 วัน ในความหมายของ ระยะพำนักจำนวน 90 วัน โดยหากอ้างอิงตามเอกสารจากเวบไซท์ https://ec.europa.eu สรุปใจความสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “ในทุกๆการเดินทางระยะรอบ 180 วัน สามารถพำนักได้สูงสุด 90 วัน”


https://ec.europa.eu/home-affairs/sites/homeaffairs/files/e-library/docs/schengen_brochure/schengen_brochure_dr3111126_en.pdf

ตัวอย่าง รายละเอียดวีซ่าเชงเก้นดังนี้ (ตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น ขออนุญาตนับทุก ๆ เดือนมีจำนวนวัน = 30 วัน) หากวีซ่าที่ได้รับรายละเอียดเป็นดังนี้

Valid from 01-01-19 Until 31-12-19
(Type of Visa = C , Number of Entries = MULT , Duration of Stay = 90 Days)

หมายความว่าหากท่านเข้าพื้นที่เชงเก้นวันที่ 1 ม.ค. 62 ดังนั้นในรอบ 180 วัน (1ม.ค. – 30 มิ.ย.) ท่านสามารถเข้าออกกี่ครั้งก็ได้ แต่จำนวนรวมวันพำนัก ไม่เกิน 90 วัน

หรือหากท่านเข้าพื้นที่เชงเก้นวันที่ 2 ก.พ. 62 ดังนั้นในรอบ 180 วัน (1 ก.พ. – 30 ก.ค.) ท่านสามารถเข้าออกกี่ครั้งก็ได้ แต่จำนวนรวมวันพำนัก ไม่เกิน 90 วัน

ตัวอย่างนี้คือหลักการสำคัญของคำว่า
“ในทุกๆการเดินทางระยะรอบ 180 วัน สามารถพำนักได้สูงสุด 90 วัน”

อาจจะยากและสับสนซับซ้อนสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มลองนับ แต่ตามบทความแล้วมันจะต้องนับ “อย่างง่าย” ดังนั้น จึงขอแนะนำแอพพลิเคชัน “Schengen Calculator” สำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นผู้ช่วยในการนับ แม้ว่าจะใช้อ้างอิงอย่างเป็นทางการไม่ได้  แต่ก็สามารถใช้ช่วยในการคำนวนวางแผนการเดินทางของผู้เดินทางได้เป็นอย่างดี

Application “Schengen Calculator”

หน้าตาของ Application ใน App Store

โดยเนื้อหาหลักการสาระสำคัญทั้งหมด หากท่านได้ติดตามและเข้าใจแล้ว ลองโหลดแอพพลิเคชันมาใช้งานดู จะทำให้ท่านเข้าใจและเห็นภาพการนับวันได้ง่ายขึ้น ค่าเสียหายในการดาวน์โหลด 35 บาท ครับ

วิธีการใช้ เริ่มกรอกข้อมูลตามแถบสีจากหัวข้อ (ผมเขียนบทความนี้ วันที่ 11 ม.ค. 62)

สีเขียว VISA คลิกที่ปุ่มขวามือ กรอกรายละเอียดของเรา (วีซ่าของผม From 29-12-17 Until 28-12-19)

สีแดง Visits กรอกข้อมูลของทริปที่เราเดินทางมาแล้วทั้งหมดก่อนหน้านี้ในรอบ 180 วัน (ของผม เริ่มนับกลับไป จะได้ทริปการเดินทาง 22 Jul 61 – 29 Juk 61) หัวข้อนี้ค่อย ๆ ใส่ข้อมูลทีละทริป ห้ามตกหล่นเด็ดขาดเพราะมีผลต่อการนับวัน

หน้าตาของ Application “Schengen Calculator”

สีฟ้า Entry ให้ระบุ Date of Entry ในทริปการเดินทางถัด กรณีของผม คือ วันที่ 13 ม.ค. 62

สีเทา Leave ให้ระบุ Date of Leave ในทริปการเดินทางถัดไป กรณีของผม คือ วันที่ 21 ม.ค. 62

กรอกข้อมูลทริปที่เดินทางมาแล้ว (Visits) ก่อนหน้านี้ 180 วัน กรณีของผม คือทริปวันที่ 22 Jul 61

จากนั้น กดปุ่ม Calculate จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • ข้อมูลข้างบนก็ไล่จากวันเข้า-ออกพื้นที่เชงเก้นในทริปถัดไปของเรา Entry Date , Leave Date (13 Jan BE 2562 – 21 Jan BE 2562)
  • 9 Days คือ จำนวนวันที่อยู่ในพื้นที่เชงเก้นของทริปถัดไป (13-21 Jan 62)
  • 180 day period จะเห็นได้ว่า แอพจะคิดจากวันสุดท้ายของทริปถัดไปของเรา (21 Jan 2562) แล้วนับย้อนกลับขึ้นไป 180 วัน (26 Jul 2561)
  • 67 Days คือ จำนวนวันอยู่ในพื้นที่เชงเก้นในรอบ 180 วัน (ไม่รวมจำนวนวันของทริปถัดไป)
  • สุดท้ายตัวเลขที่เราต้องการก็คือ 76 Days ความหมายคือ จำนวนวันทั้งหมดในรอบ 180 วัน นับย้อนกลับไปจากวันสุดท้ายของทริปถัดไปของเรา จะอยู่ในพื้นที่เชงเก้น 76 วัน ซึ่งก็คือไม่เกิน 90 วัน ในรอบ 180 ตามกฎเชงเก้น

เป็นอย่างไรบ้างครับ อาจจะงง ๆ บ้างเล็กน้อย ค่อยๆไล่กรอกข้อมูลทีละขั้นตอนแล้วจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ลองดาวน์โหลดมาใช้งานกันดู (มี Application ให้โหลดได้ฟรีด้วย แต่ผมลองแล้วมันไม่ค่อยดีเท่าไร ) สุดท้ายนี้ขอให้บทความนี้มีประโยชน์สำหรับการเดินทางของท่านและขอให้ท่านมีความสุขกับการเดินทางนะครับ

**หมายเหตุ** การนับวันให้นับเฉพาะพื้นที่เชงเก้นเท่านั้น ในบางโปรแกรมการเดินทางถ้ามีเข้าประเทศที่ไม่ใช่เชงเก้น เช่น โปรแกรม ออสเตรีย สโลวีเนีย โครเอเชีย อิตาลี เดินทางเรียงลำดับประเทศ เราจะนับเข้าเชงเก้นที่ออสเตรีย ออกเชงเก้นที่สโลวีเนีย <<แล้วก็เข้า-ออกโครเอเชีย>> จากนั้นจึงนับเข้าเชงเก้นอีกครั้งที่อิตาลีและออกเชงเก้นที่อิตาลี ไม่นับวันที่เข้าไปในเขตโครเอเชีย

Application ตัวอย่างนี้ ผมโหลดมาจากระบบ iOS ดังนั้นสำหรับ Android ผมคิดว่ามีเช่นกัน ได้ไม่ได้อย่างไรลองเข้ามาคอมเมนต์ได้ในลิงค์ facebook ของ Beaconboy Travel นะครับ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและขอบพระคุณสำหรับการเยี่ยมชมครับ

Jobby.